ชาวกีวีเป็นคนรักอิสระ เป็นตัวของตัวเอง อัธยาศัยดีและเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเสมอ ชาวกีวีเน้นความซื่อสัตย์ ทำงานหนักและยึดมั่นในความยุติธรรม นอกจากนี้ยังเน้นความสะดวกสบายและความเหมาะสมตามกาลเทศะเป็นหลักมักไม่แต่งกายหรูหราและนำสมัย
อาหารหลักของประเทศนิวซีแลนด์ คือ เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อแกะ อาหารทะเล ขนมปังชนิดต่างๆ นม เนยและชีส ผักสดและผลไม้มีไม่หลากหลายชนิดแต่มีตลอดทั้งปี น้ำประปาสามารถดื่มได้
อาหารเช้า: ขนมปังปิ้งทาเนยและแยมรสต่างๆ ธัญพืช นม ผลไม้
อาหารกลางวัน: แซนวิชใส่ผักหรือเนื้อสัตว์ พาย ผลไม้
อาหารเย็น: เป็นอาหารมื้อหลัก อาจเป็นสลัด ซุป สเต็ก หรืออาหารจานร้อนที่หลากหลายในแต่ละวัน
นักเรียนอาจต้องเตรียมแซนวิชจากบ้านเพื่อนำไปทานกลางวันหรือเตรียมเงินส่วนตัวเพื่อซื้ออาหารกลางวันที่โรงเรียนตามที่ระบุในเอกสารของครอบครัว สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่พักอาศัยกับครอบครัวชาวนิวซีแลนด์ ในกรณีที่ไม่ต้องการกลับมาทานอาหารมื้อเย็นในบางวันนักเรียนต้องแจ้งกับแม่บ้านหรือสมาชิกในบ้านให้ทราบล่วงหน้า
ที่พักในนิวซีแลนด์มีหลายแบบให้เลือก และมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปแล้วเมืองใหญ่ๆอย่าง Auckland และ Wellington ค่าที่พักจะแพงที่สุดแต่มีกิจกรรมและสิ่งบันเทิงเริงรมย์ให้เลือกมากมาย ส่วนเมืองมหาวิทยาลัยอย่าง Hamilton, Palmerston North, Christchurch และ Dunedin นั้นค่าใช้จ่ายค่อนข้างถูก ส่วนใหญ่ทางสถาบันจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาที่พักให้นักเรียน โดยที่นักเรียนสามารถเลือกได้ดังนี้
1. โฮมสเตย์ หรือ พักกับครอบครัวชาวนิวซีแลนด์ (Homestay)
เป็นการพักอาศัยอยู่กับครอบครัวเจ้าของบ้าน โดยที่ทางเจ้าของบ้านจะจัดห้องนอนส่วนตัวไว้ให้ ส่วนห้องน้ำหรือบริเวณอื่นๆโดยปกติต้องใช้ร่วมกับครอบครัว รับประทานอาหารกับครอบครัว วัตถุประสงค์ของการอยู่ที่พักแบบนี้เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรม การกินอยู่ รวมทั้งฝึกภาษาและความอดทนที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ราคาที่พักประมาณ $240-300 /สัปดาห์
2. หอพักนักเรียน (Halls of Residence)
โรงเรียนมัธยม มหาวิทยาลัย และสถาบันโพลีเทคนิคหลายแห่งมีหอพักประจำให้นักเรียน มีทั้งห้องพักเดี่ยวและห้องพักรวม ส่วนใหญ่ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน สำหรับนักเรียนมัธยมจะเป็นหอพักแบบมีอาหารให้ครบ 3 มื้อซึ่งนักเรียนจะรับประทานที่โรงอาหาร ส่วนหอพักของมหาวิทยาและสถาบันโพลีเทคจะมีให้เลือกหลายแบบขึ้นอยู่กับสถาบันนั้นๆ ราคาที่พักประมาณ $250-385/สัปดาห์
3. บ้านพักหรือหอพักเอกชน
นักเรียน/นักศึกษาที่อายุมากกว่า 18ปี สามารถเลือกอยู่หอพักหรือบ้านพักของเอกชนได้ โดยอาจเลือกอยู่กับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ราคาค่าบ้านพักหรือหอพักขึ้นอยู่กับเมืองและย่าน ประมาณ $150-250/สัปดาห์ แบบแชร์กันอยู่ หรือประมาณ $350- 450/สัปดาห์ แบบห้องเดี่ยว โดยนักเรียนอาจต้องชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเครื่องนอน ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆเอง
ประเทศนิวซีแลนด์ใช้สกุลเงินนิวซีแลนด์ดอลลาร์ (New Zealand Dollar- NZD) โดย 1 ดอลล่าร์มีค่าเท่ากับ 100 เซนต์ รูปแบบเงินจะมีแบบธนบัตรและแบบเหรียญ ดังนี้
ประเทศนิวซีแลนด์ใช้กระแสไฟฟ้า 220-240 โวลต์ เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยเราสามารถนำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปใช้ได้ แต่จะต้องเตรียมเต้าเสียบ (Adaptor) ชนิด 3ขา เพื่อเชื่อมต่อกับเต้ารับ Adaptor นี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป แนะนำว่าควรเตรียมปลั๊กไฟฟ้าแบบหลายช่องเสียบไปเพิ่มเติมเพื่อสามารถใช้งานต่างๆได้อย่างเพียงพอ เช่น การเสียบชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ในเวลาเดียวกัน เป็นต้น
นิวซีแลนด์มีระบบน้ำประปาที่ดีและแยกเป็นระบบน้ำร้อนและน้ำเย็นซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งการอุปโภคและบริโภคได้โดยไม่จำเป็นต้องต้มก่อน น้ำจากก๊อกน้ำในห้องครัวสามารถดื่มและใช้ทำกับข้าวได้ แนะนำให้เตรียมขวดน้ำสำหรับนำไปดื่มในระหว่างวัน เพราะน้ำดื่มที่นั่นจะมีราคาแพงกว่าประเทศไทย
นิวซีแลนด์มีธนาคารที่เปิดให้บริการสำหรับนักศึกษาต่างชาติหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ANZ, ASB, BNZ, Kiwi Bank หรือ Westpec โดยธนาคารส่วนใหญ่จะเปิดบริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ การฝาก-ถอน โอนเงินสามารถใช้บริการเคาน์เตอร์ที่สาขา หรือสามารถทำธุรกรรมผ่านทาง Internet Banking ซึ่งธนาคารจะมีคอยไว้ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และบริการตู้ ATM ที่มีกระจายอยู่ทั่วไป หรือสามารถดาวน์โหลด application เพื่อใช้กับสมาร์ทโฟนได้เช่นกัน
ธนาคารที่นิวซีแลนด์หลักๆจะมี ANZ, ASB, Westpec และ Kiwi Bank ที่เปิดให้บริการอยู่ น้องที่ถือวีซ่านักเรียนสามารถที่จะทำเรื่องเปิดบัญชีธนาคารได้ โดยทางโรงเรียนที่น้องจะไปเรียนนั้นจะช่วยทำเรื่องนัดหมายเปิดบัญชีกับทางธนาคารให้ ข้อแตกต่างของระบบบัญชีที่นิวซีแลนด์คือ จะไม่มีสมุดบัญชีให้ถือเก็บไว้ ทุกอย่างจะเป็นระบบออนไลน์หมด โดยการเข้าใช้งานด้วย application หรือ internet banking โดยจะต้องมี log in กับ password ในการเข้าไปทำธุรกรรมทางการเงิน หลักๆแล้วเมื่อทำเรื่องเปิดบัญชีธนาคารแล้ว น้องๆอาจจะต้องรอประมาณ 3-7 วันทำการ น้องจะได้รับบัตร Eft-Pos (บัตรเอทีเอ็ม) มาเพื่อใช้ในการชำระสินค้าหรือบริการได้ทุกร้านในประเทศนิวซีแลนด์ น้องๆ ควรจะเก็บ username กับ password ของน้องไว้ให้อย่างปลอดภัยอย่างให้คนอื่นทราบนะครับ
การซื้อของและชำระค่าสินค้าต่างๆ เราสามารถใช้บัตร Debit ชำระได้โดยจะเรียกว่า Eft-Pos โดยการแตะบัตรหรือเสียบบัตรเข้ากับเครื่องชำระเงินและเลือกการตัดเงินจากบัญชีออมทรัพย์ (Saving) และใส่รหัสบัตรเพื่อยืนยันการชำระเงิน
ประเทศนิวซีแลนด์มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หลักๆ 3 เครือข่ายได้แก่ Vodafone, 2degrees และ Spark โดยปกตินักศึกษาไทยสามารถนำโทรศัพท์มือถือจากเมืองไทยไปใช้ได้ โดยซื้อเพียงซิมการ์ดที่จะมีให้เลือกทั้งแบบ Pre-paid (เติมเงิน) และ Post-paid (รายเดือน) และมีแพคเกจค่าโทรและอินเตอร์เน็ตให้เลือกตามความต้องการ
สำหรับผู้ปกครอง เพื่อน หรือญาติ ที่ต้องการโทรออกจากประเทศไทยไปยังนิวซีแลนด์ รหัสประเทศของนิวซีแลนด์คือ +64
New Zealand Post หรือไปรษณีย์นิวซีแลนด์ เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์และวันเสาร์ในบางสาขา โดยเปิดให้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ สาขาในซุปเปอร์มาร์เก็ต สาขาในธนาคาร สาขาในร้านต่างๆไม่ว่าจะเป็น ร้านขายยา ร้านหนังสือ ฯลฯ ซึ่งนอกเหนือจากการรับส่งจดหมาย พัสดุ สิ่งของต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศแล้ว NZ Post ยังเปิดให้บริการถ่ายรูป passport photos แลกเปลี่ยนเงินตรา เติมเงินโทรศัพท์ และชำระค่าบริการต่างๆอีกด้วย
เมืองอ๊อคแลนด์เป็นประเทศที่มีการจัดการเรื่องการคมนาคมที่ดีประเทศหนึ่ง ซึ่งมีทั้งรถสาธารณะ รถไฟ และเรือเฟอร์รี่ ซึ่งทั้ง 3 ประเภทนี้ คนนิวซีแลนด์นิยมใช้กันค่อนข้างมาก ซึ่งระบบการคมนาคมของประเทศนี้ มีตารางเวลาค่อนข้างแน่นอน โดยสามารถดูตารางรถสาธารณะได้จากทางเว็บไซต์ หรือที่ป้ายรถเมล์ต่างๆ ว่ารถเมล์สายไหนผ่านป้ายรถเมล์นี้ และอีกกีนาทีรถเมล์จะมาถึงป้ายนี้เป็นต้น ส่วนรถไฟก็จะมีสถานีต้นทางที่ชื่อว่า Britomart เป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งสามารถดูตารางเดินรถได้จากที่สถานที หรือผ่านทางหน้าเว็บไซต์ได้เช่นกัน ที่ติดกันกับสถานีรถไฟ Britomart นั้น ก็จะมี Ferry Terminal ที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางด้วยเรือ สามารถเดินทางไปยังสถานที่สำคัญๆได้เช่น Devonport / Rangitoto Island หรือ Waiheke Island ได้อีกด้วย
ส่วนในเมืองอื่นๆนั้น หลักจะเดินทางกันด้วยรถสาธารณะที่มีการจัดระบบการขนส่งไว้อย่างดี มีกำหนดตารางเดินรถไว้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น หากน้องๆจะเดินทางไปเที่ยวที่ไหน อย่าลืมเช็ครอบรถโดยสารก่อนการเดินทางนะครับ
ร้านค้าในนิวซีแลนด์โดยส่วนมากจะอยู่บนถนนเส้นหลักของแต่ละเมือง มีศูนย์การค้ากระจายอยู่ในเมืองหลักๆ ซุปเปอร์มาเก็ตหลักๆของนิวซีแลนด์คือ Countdown, New world, PAK′nSAVE, Fresh Choices, Four SquareและWarehouseที่นิวซีแลนด์จะไม่มี 7-11 แต่จะมีร้านสะดวกซื้อชื่อที่เปิด 24 ชั่วโมงในบางสาขาหรือเป็นร้านขายของชำตามพื้นที่นั้นๆ
เนื้อหาในเว็บไซต์นี้ รวมถึงข้อมูลทั้งหมด เช่น ข้อความ กราฟิก รูปภาพ ภาพถ่าย และเสียง ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และถือเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทฮาร์ทส์ แอนด์ มายส์ อินเตอร์เนชั่นนอล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ห้ามคัดลอก เปลี่ยนแปลง ทําซ้ำ จัดเก็บในระบบสืบค้นหรือส่งผ่านเนื้อหาในเว็บไซต์นี้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของเนื้อหา เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางบริษัทฯ
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “Cookies Policy” และสามารถเลือกตั้งค่ายินยอมการใช้คุกกี้ได้โดยคลิก “Accept”