สวัสดีครับ ผม Daring Do วันนี้ผมจะมาเล่าประสบการณ์การเรียนต่อนิวซีแลนด์ให้ทุกคนได้อ่านเป็นความรู้สำหรับทุกคนที่สนใจครับ ในเวลาที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ผมพึ่งจะเรียนจบ Quarter 1 ของ Business School (คณะบริหารธุรกิจ) ของ University of Auckland ในสาขาวิชา Master of International Business (มหาบัณฑิตสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ [ปริญญาโท]) ซึ่งในส่วนที่ผมเรียนอยู่นั้นไม่ได้ถูกดูแลและบริหารโดย Business School ส่วนหลัก แต่อยู่ภายใต้การบริหารของส่วนดิวิชั่นย่อย คือ Graduate School of Management ซึ่งเป็นส่วนที่ดูแลคอร์สพวก MBA ซึ่งส่วนนี้จะขอเก็บไว้ในบทถัดไปนะครับ
สำหรับบทความนี้จะเน้นเรื่องหลักการในการเลือกที่เรียนเป็นหลักเพราะว่ารายละเอียดจริงๆเยอะมากครับ เลยคัดมาเฉพาะที่จำเป็น และเนื่องจากผมเรียนในระดับ ป.โท บทความนี้จึงเขียนสำหรับคนที่อยากศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเป็นหลักนะครับ
ทำไมถึงมาเรียนต่อที่นิวซีแลนด์
ตอนที่ตัดสินใจมาเรียนต่อ ป.โท ที่นิวซีแลนด์ แทนที่จะเป็นที่ออสเตรเลียตามเป้าหมายเดิม (ตอนแรกผมเรียนภาษาที่ออสเตรเลียครับ) หรือ อังกฤษ หลายคนแย้งผมว่า มาเรียนที่นี่ทำไม ที่นี่มีชื่อเสียงด้าน High School แต่ถ้าจะเรียน ปริญญาต้องไปที่ ออสเตรเลีย ไม่ก็ UK/USA สิ แต่ถึงกระนั้นผมก็เชื่อมั่นในข้อมูลค้นคว้าของผม ซึ่งจะขอแนะนำแบบ Step-By-Step ต่อจากนี้นะครับ
การจะเลือกมาเรียนที่ใดที่หนึ่งเราต้องถามตัวเองก่อนว่า
1.มาเรียนเพราะอะไร
2.มีเป้าหมายหลังเรียนจบอย่างไร
3.สิทธิพิเศษหลังเรียนจบมีไหม
ซึ่งก่อนจะตัดสินใจนั้นต้องถามใจตัวเองให้ถี่ถ้วนก่อน เพราะการเรียนต่างประเทศไม่ใช่เรื่องโก้หรูอย่างที่หนัง – ละครสร้างภาพให้เราได้เห็นกัน แต่เป็นการลงทุนทั้ง เงินทุน เวลา กำลังสมอง และ สภาพร่างกายและจิตใจ ที่ต้องมีความอดทนและเป้าหมายอันแน่วแน่ ถึงจะไปถึงจุดหมายได้ ดังนั้นก่อนจะตกลงปลงใจขอให้คิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อน
ต่อมาหลังตัดสินใจได้แล้ว ก็มาเลือกดูประเทศว่า แต่ละประเทศนั้นตรงสเป็คเราไหม ซึ่งในตารางเปรียบเทียบที่ให้ไว้ตรงนี้จะเป็นการเปรียบเทียบประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักใหญ่ๆ 5 ประเทศ คือ New Zealand / Australia / Canada / UK / USA ซึ่งจะเป็นการเปรียบเทียบอย่างคร่าวๆจากข้อมูลที่มีอยู่ในหัวผมอยู่แล้ว ไม่ได้เทียบข้อมูลสถิติซึ่งอาจจะไม่แม่นยำเท่าไหร่
ประเทศ |
NZ |
AUS |
Canada |
UK |
US |
จำนวนประชากร |
4ล้าน |
23 ล้าน |
35 ล้าน |
63 ล้าน |
317 ล้าน |
จำนวนมหาวิทยาลัย |
8 แห่ง |
ราวๆ 20 กว่าแห่ง |
หลายสิบแห่ง |
หลายสิบแห่ง |
นับร้อยแห่ง |
ระดับอาชญากร |
ต่ำ |
ต่ำ |
ต่ำ |
กลาง |
สูง |
ขนาดเศรษฐกิจ |
เล็ก |
กลาง |
กลาง |
ใหญ่ |
ใหญ่มาก |
โอกาสทำงานพิเศษ |
20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ / ไม่จำกัดในช่วง Summer |
40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ / ไม่จำกัดช่วง Summer |
ไม่อนุญาต |
20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ |
ไม่อนุญาต ต้องดำเนินการขออนุมัติภายหลัง |
วีซ่าทำงานหลังเรียนจบ |
2ปี หลังเรียนจบ สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย |
2ปี หลังเรียนจบ สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย |
2ปี หลังเรียนจบ สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย |
ไม่มี |
ไม่มี |
โอกาสได้วีซ่าถาวร |
สูง |
กลาง – ต่ำ |
สูง |
ต่ำ |
ต่ำ |
อัตราแลกเปลี่ยน (12/2013) |
26 บาท |
30บาท |
30 บาท |
52 บาท |
32 บาท |
ในส่วนนี้อาจจะสงสัยว่า จำนวนมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องอะไรด้วย ที่รวมมาด้วยเพราะว่า ยิ่งมหาวิทยาลัยยิ่งเยอะยิ่งคัดกรองยากครับว่ามหาวิทยาลัยไหนคุณภาพดีไม่ดี อย่าง UK กับ USA นั้นมหาวิทยาลัยเยอะมาก เกรดก็มีตั้งแต่ สุดยอดเหนือมนุษย์เท่านั้นที่เข้าได้ ไปจนถึง มหาวิทยาลัยห้องแถวที่ไม่มีแม้แต่ตึก และไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ตกของรัฐบาลและหน่วยงานดูแลด้านการศึกษาทั้งหลายในประเทศเหล่านั้นเลยทีเดียวครับ
ส่วนตรงนี้เมื่อเทียบข้อดีข้อด้อยแล้วผมเลยเลือกนิวซีแลนด์ เพราะ เทียบข้อดีข้อด้อยแล้ว ข้อดีสูงกว่า เช่น มหาวิทยาลัยน้อยเลือกง่าย ทำงานพิเศษได้ด้วย มีวีซ่าทำงานหลังเรียนจบ โอกาสได้วีซ่าถาวรค่อนข้างสูง เพราะว่าประเทศนั้นมีปัญหาสมองไหลที่ปัญญาชนหนีไปทำงานที่อื่นกันหมด เลยต้องการกำลังจากนักศึกษาปัญญาชนชาวต่างชาติมาร่วมพัฒนาประเทศ สร้างเศรษฐกิจให้รุ่งโรจน์แบบพี่น้องฝาแฝดอย่างออสเตรเลีย เลยถือเป็นประโยชน์ที่เรามองข้ามไม่ได้เลยครับ
เลือกที่เรียนอย่างไร
Ranking |
มีชื่อเสียงมากแค่ไหนในเวทีโลก ซึ่งจะมีผลต่อ Connection ทีเราจะได้รับ รวมถึงโอกาสทำงานในที่ต่างๆในโลกด้วย สามารถค้นคว้าได้จากหนังสือจัดอันดับต่างๆ เช่น Times Higher Education Ranking เป็นต้น |
Accreditation |
ได้รับการรับรองจากสำนักไหนบ้าง ซึ่งจะเป็นตัวรับประกันคุณภาพการเรียนการสอนในสถาบันนั้นๆ ส่วนมากจะไม่ได้รับรองสถาบันเป็นมวลรวม แต่มักจะกระจายอยู่ตามคณะต่างๆ |
Entry Requirement (เกณฑ์การเข้า) |
เกณฑ์การเข้ายากง่ายแค่ไหน ส่วนมากสถานศึกษาดังๆมักจะมีเกณฑ์การเข้าที่ยาก ถึง ยากมากๆ เพราะมีแต่คนเก่งๆไปสมัคร ซึ่งถ้ามั่นใจจะลองก็ไม่ผิด แต่เราต้องรู้ถึงศักยภาพและขีดจำกัดของเราเองเสียก่อน |
Professional Personnel |
ส่วนนี้เสริมเข้ามา เพราะบางทีมหาวิทยาลัยที่เลือกอาจจะดังน้อยกว่า แต่มีศาสตราจารย์ดังๆในสาขาที่เราอยากเข้าทำงานอยู่ ก็ไม่ควรมองข้าม |
Facilities and Service |
เนื่องจากเราต้องอยู่กับสถาบันอีกนาน ดังนั้นเราต้องใช้ประโยชน์จากสิทธินักเรียนให้มากสุด ดังนั้น สถาบันที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่นักศึกษาใช้ได้ฟรีหรือจ่ายถูกกว่า อย่างศูนย์คอมคุณภาพดี ห้องสมุด โรงยิมส์ ควรจะนำมาพิจารณายิ่ง ส่วนบริการนั้นเนื่องจากเราเป็นนักศึกษาต่างชาติ การสนับสนุนที่ดีจากมหาวิทยาลัยจะทำให้ชีวิตต่างแดนง่ายขึ้นและน่ากลัวน้อยลง |
Location |
เริ่มจากดูว่าตั้งอยู่ที่ไหน เมืองอะไร ถ้าเป็นเมืองใหญ่อย่างเมืองหลวง หรือ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ เช่นพวก Auckland, Sydney, London, New York คนจะเยอะวุ่นวาย ค่าครองชีพจะแพงหน่อย แต่เหมาะสำหรับคนที่ชอบชีวิตแนว City Life |
Tuition Fees |
แต่ละคณะ มหาวิทยาลัย ล้วนไม่เท่ากัน แม้แต่ในคณะเดียวต่างหลักสูตร ค่าเรียนก็ต่างกัน ต้องพิจารณาให้ดี เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยน สอบถามกับทางมหาวิทยาลัย แล้วสำรวจเงินในบัญชี หรือถามผู้ปกครองเสียก่อนว่าไหวไหม (หมายเหตุ : ต้องเตรียมค่าความเสี่ยงไว้ด้วยเพราะค่าเทอมมักประกาศขึ้นทุกปี หรือ 2 ปีครั้ง) |
เกณฑ์การรับ ไหวหรือไม่
หลังจากที่เลือกมหาวิทยาลัยกับคณะได้แล้ว ก็มาดูเกณฑ์การเข้าของมหาวิทยาลัยกันว่าไหวหรือไม่ ซึ่งส่วนตรงนี้อาจจะมีครบตามนี้ หรือมากกว่านี้แล้วแต่มหาวิทยาลัย แต่ส่วนที่ยกมานี้คือส่วนที่ใช้งานหลักๆ
เกรดเฉลี่ย |
เกรดจากที่เรียนจบ ป.ตรี ถ้าเป็น มหาวิทยาลัย Rank ต่ำๆ เกรด 2 ต้นๆก็สามารถเข้าได้แล้ว ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่ Rankค่อนข้างสูง มักจะรับเกรด 2.5 – 3 ขึ้นไป |
คณะที่เคยจบมา |
บางคณะหรือภาควิชา จะรับคนที่จบมาจากคณะเดียวกันเท่านั้น เช่น วิศวะ รับจบจาก วิศวะ เท่านั้น |
ผลสอบภาษาอังกฤษ
|
มักจะมีตัวเลือกให้ 2 ตัวเลือกที่ค่อนข้างหาสอบได้ง่ายในไทยคือ IELTS และ TOEFL ระดับมหาวิทยาลัยมักจะรับ 6.5 และทุกแบนด์ขั้นต่ำ 6 ขึ้นไป สำหรับ IELTS ถ้าผลสอบน้อยกว่านิดหน่อยมหาวิทยาลัยมักจะเสนอคอร์สภาษาอังกฤษ Direct Entry ให้ (แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยดังมากๆมักจะไม่มีคอร์สพวกนี้ให้ ต้องลุ้นผลสอบกันเอาเอง) |
ผลสอบอื่นๆ |
บางครั้งคณะที่เราต้องการเข้าอาจจะรีเควสผลสอบอย่างอื่นมาด้วย เช่น GMAT, GRE (ข้อสอบเหล่านี้ค่อนข้างยากมาก และตอบผิดมีลบคะแนนด้วย เตรียมตัวกันให้ดีๆ) |
พอร์ตผลงาน |
บางคณะบางภาควิชา เช่น ภาควิชาการแสดง หรือ สาย มีเดีย มักจะต้องการพอร์ตผลงานที่เราเคยทำมาในช่วงที่ผ่านมามาใช้ในการพิจารณาด้วย |
ค่าเล่าเรียน |
ที่นำมารวมไว้ที่นี่ด้วยเพราะ สถาบันมักจะคิดค่าเรียนนักเรียนต่างชาติแพงกว่านักเรียนในประเทศถึง 2 หรือ 3 เท่า อย่างคณะที่ผมเรียนเก็บนักเรียนต่างชาติถึง 6หมื่นดอล ขณะที่ นักรียนในประเทศเก็บเพียง 2 หมื่นดอลเท่านั้น ยังไม่รวมค่าครองชีพและค่าเช่าหอพัก ต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่าพร้อมหรือไม่ |
เท่านี้น่าจะเพียงพอสำหรับการเลือกประเทศ มหาวิทยาลัย และ คณะแล้วนะครับ พบกันตอนหน้ากับการ Review หลักสูตร Job Ready Master Degree ของ University of Auckland คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่นะครับ